เบลเยียม ประเทศเล็กๆ ที่ซับซ้อนยิ่งนัก…

วันนี้จะพาทุกคนมาอ่าน เกี่ยวกับ ประเทศนี้สักหน่อย คือว่าก่อนที่เมย์จะได้มารู้จักกับแฟนนั้น บอกตรง ๆ ว่าไม่เคยทราบเกี่ยวกับรายละเอียดของ เบลเยียม เลย คือรู้จักแต่ชื่อจริง ๆ ที่รู้คือเพราะ มีไอศกรีมยี่ห้อหนึ่งที่ประเทศไทย รุ่นลิมิเตดอิดิชั่น และเค้าโฆษณาว่าเคลือบด้วย Chocolate Belgium Limited Edition อร่อย และเข้มข้นนักหนา เราก็อ๋อ…พอเค้าบอกว่าบ้านอยู่เบลเยียม ก็คือ รูปแท่ง Chocolate หวานๆ ลอยมาในหัว คือรู้แค่นี้จริงๆ แล้วพอมาค้นหาใน Google Map คือต้องซูมแผนที่ประเทศนี้มากๆ แบบ ต้องขยายซูมสุด ๆ เพราะเป็นประเทศที่เล็กมาก คือขับรถใช้เวลาไม่ถึงวัน ก็สามารถไปได้ เหนือจรดใต้แล้วค่ะ  แต่ยิ่งเล็ก ยิ่งซับซ้อนยิ่งมีรายละเอียดเยอะมาก เยอะจนบางทีเราก็ งงไปเลย เยอะยังไงมาตามอ่านกันได้เลยค่ะ

ข้อมูลทั่วไปของประเทศเบลเยียม

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เขตหลักๆ  ซึ่งการแบ่งนี้จะมีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดคือ ภาษา ที่ใช้ในแต่ละภูมิภาคจะต่างกัน คือ งงมากค่ะ คุณเป็นประเทศเดียวกันนะ แต่แยกกันใช้ภาษาราชการ คนก็สื่อสารด้วยกันยากไปอีก เมื่อมาอยู่จุดนี้รู้ซึ้งเลยว่า การที่ประเทศไทยมีภาษาเป็นของตนเองนั้น มันดีมากยังไง (รู้สึกภาคภูมิใจในภาษาไทยของบ้านเราขึ้นมาทันทีเลยค่ะ)

ด้วยความที่เบลเยียมไม่มีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาราชการก็ใช้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่เขตติดต่อกับประเทศไหน ก็ใช้ภาษาเค้าซะเลย คือด้านเหนือติดประเทศ เนเธอร์แลนด์ ก็จะใช้ภาษาเนเธอร์แลนด์ (ดัชต์) ส่วนทางด้านทิศใต้ของประเทศ มีเขตติดต่อกับประเทศ ฝรั่งเศส เลยใช้ภาษา ฝรั่งเศส นั่นเองค่ะ และมีบ้างส่วนน้อย ถึงน้อยมาก ที่ใช้ภาษา เยอรมัน ค่ะ

แต่ละเขตการปกครอง และยังมี “วันชาติ” ที่แตกต่างกันออกไป

  • 21 กรกฎาคม คือ วันชาติ เบลเยียม
  • 11 กรกฎาคม คือ วันชาติของเขต เฟลมมิช (เหนือ)
  • 27 กันยายน คือ วันชาติของเขต วาโลเนีย (ใต้)

ประเทศ Belgium มี 10 จังหวัด

เบลเยียม มีพื้นที่รวม 30,528 ตารางกิโลเมตร มีเขตติดต่อกับประเทศ ฝรั่งเศส,เยอรมนี,เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก และยังเป็นเป็นเมืองท่าขนส่งทางทะเลที่สำคัญ คือ ท่าเรือ Zeebrugge และ ท่าเรือ Antwerp 

สภาพอากาศ : ช่วงเวลาที่อบอุ่นที่สุดของปี จะอยู่ระหว่าง เดือน เมษายน ถึง กันยายน นอกจากนั้น สภาพอากาศส่วนใหญ่จะเป็นฝนตก ลมแรงและลมที่นี่จะมีความเร็วมาก บางวันความเร็วมากกว่า 100 กม/ชม (ปั่นจักรยานต้านลมแทบไม่ไหวเลยในบางครั้ง) เราจึงเห็นที่นี่มีกังหันลมเยอะมากนั่นเองค่ะ เพื่อที่จะใช้พลังงานลมจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สุดๆ

ฤดูหนาว หากใครหลงใหลใน เมืองหิมะขาวๆ ทางฝั่งเหนือ จะไม่ค่อยมีหิมะตกนะคะ เราอยู่มา 4 ปีแล้ว หิมะตกน้อยมาก หากมีตก ก็ตกแค่นิดหน่อย แต่ละครั้ง ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ก็จะละลายหายหมดแล้วค่ะ หากฤดูหนาว ใครอยากเล่นหิมะ ต้องลงไปใต้ค่ะ หรือไม่ก็ไปเล่นสกี ที่ ประเทศฝรั่งเศสค่ะ จะมีหิมะเยอะกว่าเมือง Bruges

เมื่อนึกถึงเบลเยียม นึกถึงอะไรได้บ้างนะ 

  1. ช็อกโกแลต 
  2. ขนมวาฟเฟิล
  3. ประเทศต้นกำเนิด เฟรนช์ฟราย
  4. เพชรชื่อดัง ของเมือง Antwerp
  5. รูปปั้นเด็กยืนฉี่ (แมนเนเกน พิส) (Manneken Pis)
  6. เมืองหลวงแห่งสหภาพยุโรป Capital of Europe
  7. ทีมฟุตบอลชื่อดัง ปีศาจแดง แห่งยุโรป (Rode Duivels)
  8. นักปั่นจักรยาน แชมป์โลก

เนื่องจากประเทศนี้มีความซับซ้อนของภาษามากๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ 

ประชากรดูรายการโทรทัศน์กันคนละชาแนล ฟังข่าวกันคนละภาษา ฟังเพลงกันคนละภาษา นั่นเองค่ะ ความซับซ้อนมาเยือนอีกแล้วตรงจุดนี้ คนที่นี่ไม่ใช่ว่าจะพูด 2 ภาษาได้ทุกคนนะคะ จะมีที่ฟัง ฝรั่งเศสออกบ้าง แต่ไม่ทั้งหมดค่ะ

รายการโทรทัศน์,โฆษณาต่างๆ,รายการข่าว ก็จะแบ่งภาษา เป็นชาแนลของ เวอร์ชันภาษา (Dutch) เนเธอร์แลนด์ และ ชาแนลของฝั่ง (French) ฝรั่งเศส 

ตัวอย่างโฆษณาแชมเปญ เป็นโฆษณาตัวเดียวกัน ซึ่งซุปเปอร์มาเก็ตเจ้านี้ มีร้านทั่วประเทศเบลเยี่ยม แต่เวลาเค้าทำการตลาดเค้า หรือสื่อสิ่งพิมพ์ โปรโมชั่นต่างๆ ก็ต้องทำแยก 2 ภาษาค่ะ  ดัชต์ , ฝรั่งเศส  ใช้ภาษาต่างกันอย่างนี้  เท่ากับมีงานเพิ่มให้พิธีกร,ทีมงานกราฟิก และทีมตัดต่อไปอีกนั่นเองค่ะ 😅

มีตัวอย่างให้ฟังความแตกต่างแบบเล่นๆนะคะ สำหรับคนที่ยังไม่เคยทราบทั้ง 2 ภาษา แต่ก็จะสามารถได้ยินถึงความแตกต่างของภาษาได้ไม่ยากค่ะ

เวอร์ชัน ภาษาดัชต์
เวอร์ชัน ภาษา ฝรั่งเศส

ในส่วนของ นักร้อง ศิลปินดังๆ ที่ร้องเพลงติดชาร์ทคลื่นวิทยุ ออกรายการโทรทัศน์ ของฝั่งภาคเหนือ (ฟลานเดอเริน) แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณโด่งดังมีชื่อเสียงทั่วประเทศเบลเยียม หรือว่าคนเบลเยียมฝั่งใต้ (วาโลเนีย) จะรู้จัก ดารา หรือ ศิลปิน,นักร้องท่านนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย คือ

ผู้ชนะ ของรายการ The Voice van Vlaanderen ซึ่งจะเป็นรายการของคนภาคเหนือ นั่นหมายความว่า คนทาง เมืองหลวง Brussels หรือ ทางใต้ฝั่งวาโลเนีย แทบจะไม่รู้จักผู้ชนะจากรายการนี้เลยค่ะ เพราะเค้าแยกเวทีแข่งขันกันค่ะ สรุปคือ เบลเยียม มี 2 เวที The Voice ค่ะ

The Voice van Vlaanderen   เป็นของภาคเหนือ (ฟลานเดอเริน , ฟลามส์) ดำเนินรายการเป็นภาษาดัชต์

The Voice Belgique เป็นของภาคใต้ (วาโลเนีย) ดำเนินรายการเป็นภาษาฝรั่งเศส

ผู้ชนะของแต่ละเขต ไม่ได้มีชื่อเสียงข้ามเขตกัน เพราะว่าเราดูรายการโทรทัศน์กันคนละชาแนล คือถ้าแชมป์ของ ภาคเหนือ ไปเดินชิวๆ ที่ฝั่งวาโลเนีย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเค้าคือแชมป์ The Voice van Vlaanderen หรือเป็นคนที่มีชื่อเสียงของฝั่งเหนือ 5 จังหวัดนั่นเองค่ะ  ในทางกลับกัน ทางภาคใต้ก็ไม่รู้จัก นักร้อง,ศิลปินของทางเหนือเช่นกันค่ะ ดังนั้นอาจจะเรียกได้ไม่เต็มปากว่า ฉันคือผู้ชนะของประเทศเบลเยียม นั่นเองค่ะ  แต่รายการทั้งคู่ อยู่ในประเทศเบลเยียมค่ะ ไม่งงเนอะ 😅

ซึ่งไม่เหมือนบ้านเราค่ะ เช่นผู้ชนะรายการ The Voice หรือ รายการ The Star คือผู้ชนะ 1 เดียวของประเทศ มีชื่อเสียง จากเหนือ จรดใต้ ไม่ว่าจะนักข่าว หรือดารา ศิลปิน เราก็รู้จักคนเดียวกันทั่วประเทศ เพราะเรารวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทยกัน สุดๆ

วันนี้ขอเล่าเท่านี้ก่อนนะคะ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือบางส่วนที่เราพอสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับความซับซ้อนของประเทศเบลเยียม สำหรับเรา เราว่ามันยุ่งยากไปหมด นี่ยังแค่เริ่มต้นนะคะ ยังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้อีกเยอะเลยค่ะ

สำหรับคนที่กำลังย้ายมาอยู่ที่นี่ ก็ดูพิกัดของจังหวัดที่จะมาอยู่ได้เลยค่ะ ว่าจะย้ายมาอยู่เบลเยียมฝั่งเหนือ ลงเอยที่ภาษาดัชต์  หรือ ย้ายมาอยู่เบลเยียมฝั่งใต้ ใช้ภาษาฝรั่งเศส เพื่อเราจะได้เตรียมรับมือกับความแตกต่างของวัฒนธรรมภาษา แบบไม่ Culture shock นั่นเองค่ะ หรือถ้าใครมีเวลาว่างเยอะ ก็เรียนเหมาๆ 2 ภาษาไปเลยค่ะ ไปไหน จะได้รู้เขา รู้เรา 😅 👌🏻👍🏻